พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะมีขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ ในกรุงลอนดอน 6 พ.ค.นี้ เป็นโบราณราชพระเพณีที่สำคัญขององค์พระประมุข ที่มีมานานนับพันปี จึงต้องใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการประกอบพิธี
เริ่มตั้งแต่ พระเจ้าชาร์ลส์ และพระราชินีคามิลลา เสด็จฯ ออกจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังสถานที่ประกอบพิธีด้วย ราชรถเทียมม้า “ไดมอนด์ จูบิลี สเตต โค้ช” (Diamond Jubilee State Coach)คำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และถูกนำมาใช้งานครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ตัวราชรถ ประกอบไปด้วยวัตถุที่นำมาจากอาคารประวัติศาสตร์ และพระราชวัง ด้านบนมีมงกุฎปิดทอง แกะสลักด้วยไม้โอ๊กจากเรือรบหลวงเก่าแก่ เอชเอ็มเอส วิกตอรี (HMS Victory) หนึ่งในเรือรบที่เป็นความภาคภูมิใจของกองทัพเรืออังกฤษในศตวรรษที่ 18
พิธีการสำคัญในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ จะเริ่มตั้งแต่พิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายกางเขน ตามพระวรกายของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งรายละเอียดจะค่อนข้างคล้ายกับพิธีในสมัยของพระราชมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เจิม ผ่านการปลุกเสกจากนครเยรูซาเลม โดยจะเทจากภาชนะบรรจุลงบนฉลองพระหัตถ์ช้อน ซึ่งสาธุคุณ จัสติน เวลบีย์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี นักบวชผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดระดับอัครสังฆราชของศาสนจักรอังกฤษ จะเป็นผู้ถวายการเจิมด้วยตนเอง ที่บริเวณพระหัตถ์ พระอุระ และพระเศียร
หลังเจิมน้ำมันแล้ว อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ ได้แก่ พระลูกโลกทองคำประดับอัญมณี (Golden Orb) ปิดยอดบนสุดด้วยกางเขน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา
ตามด้วยการถวายพระคทากางเขน (Sceptre with Cross) สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจปกครองของพระมหากษัตริย์ภายใต้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ที่ส่วนยอดประดับเพชรหนัก 530 กะรัต ซึ่งถือเป็นเพชรไม่มีสีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีคทาแห่งพิราบ (Sceptre with Dove) ทำจากด้ามทองคำ 3 ส่วน เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา และพระแสงดาบ (Sword of State) สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจ และหน้าที่ของพระประมุขในการปกป้องดูแลศาสนาและประเทศ
ไฮไลต์สำคัญ คือ พิธีสวมมงกุฎบนพระเศียรพระเจ้าชาร์ลส์ โดยมงกุฎที่ใช้ คือ พระมหามงกุฎเซนต์ เอ็ดเวิร์ด ทำจากทองคำแท้ประดับอัญมณี หนักถึง 2.2 กิโลกรัม เป็นพระมหามงกุฎที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษทุกพระองค์ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี 1661 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ นำกองทัพล้มล้างสถาบัน และปกครองอังกฤษด้วยระบอบสาธารณรัฐเป็นเวลา 10 ปี
หลังเสร็จสิ้นพิธีในส่วนของพระเจ้าชาร์ลส์แล้ว ก็จะมีพิธีสวมมงกุฎของพระราชินีคามิลลา เพื่อขึ้นเป็นพระราชินีพระองค์ใหม่ เคียงข้างพระสวามีด้วย
เกือบตลอดพิธีการในมหาวิหาร พระเจ้าชาร์ลส์จะประทับบน "บัลลังก์ราชาภิเษก" (Coronation chair) ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 โดยพระราชบัลลังก์จะหันหน้าเข้าหาแท่นประกอบพิธี ที่ฐานมีหินทรายสีน้ำตาลอมชมพู หนัก 152 กิโลกรัม บรรจุอยู่
หินที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “ศิลาแห่งสคูน” (Stone of Scone) หรือ “ศิลาแห่งชะตาลิขิต” (Stone of Destiny) เดิมที เป็นพระแท่นศิลาราชาภิเษกของกษัตริย์สกอตแลนด์ ที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงนำมายังกรุงลอนดอน หลังจากชนะศึกทางตอนเหนือการใช้หินก้อนนี้ในพระราชพิธี จึงเป็นสัญลักษณ์ว่าองค์พระประมุขอังกฤษทรงเป็นเจ้าเหนือหัวของสกอตแลนด์ด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ ในพิธี จะมีการใช้ ไม้กางเขนแห่งเวลส์ (The Cross of Wales) ร่วมด้วย ซึ่งไม้กางเกงดังกล่าวทำขึ้นจากกระสุนเงินใช้แล้ว และหินฉนวนของเวลส์ และที่สำคัญ คือ มีการอัญเชิญชิ้นส่วนที่เชื่อกันว่าเป็นไม้กางเขนจริงที่ใช้ตรึงพระเยซูในอดีตกาล มาประดับบนไม้กางเขนด้วย ชิ้นส่วนไม้กางเขนจริงที่ว่านี้ เป็นของขวัญส่วนพระองค์ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสถวายให้พระเจ้าชาร์ลส์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลนี้
ส่วนพระคัมภีร์ไบเบิลที่อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ใช้ในการประกอบพิธี เป็นพระคัมภีร์ที่ทำขึ้นพิเศษเพื่อการนี้เท่านั้น หน้าปกหุ้มด้วยหนังแกะ เขียนอักษรและลวดลายด้วยสีทอง
หลังเสร็จสิ้นพิธีสวมมงกุฎในมหาวิหารแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ และพระราชินีคามิลลา จะประทับราชรถทองคำ (Gold State Coach) อายุเก่าแก่ 260 ปี เพื่อร่วมขบวนแห่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระยะทาง 7.2 กม. ราชรถทองคำคันนี้ ใช้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ในปี 1831 มีความยาว 7 เมตร สูง 3.6 เมตร หนัก 4 ตัน และต้องใช้ม้า 8 ตัวในการลาก
เมื่อเสด็จฯ ถึงโบสถ์น้อยเซนต์ เอ็ดเวิร์ด พระเจ้าชาร์ลส์ และพระราชินีจะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ โดยพระเจ้าชาร์ลส์จะทรงสวมพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตต (Imperial State Crown) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร ก่อนเสด็จออกสีหบัญชร พระราชวังบักกิงแฮม ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการสำคัญในวันนั้น หากดูในภาพรวม สเกลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้น ถูกลดทอนจากสมัยพระราชมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นอย่างมาก เป้าหมายเพื่อสะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และให้สอดคล้องกับปัญหาค่าครองชีพที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่